
ป่าไม้ในประเทศไทย แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
๑.ป่าดงดิบหรือป่าไม่ผลัดใบ (Evergeen forest)
๒. ป่าผลัดใบ (Deciduous Forest)
๑.ป่าดงดิบหรือป่าไม่ผลัดใบ (Evergeen forest)
เป็นระบบนิเวศน์ของป่าไม้ชนิดที่ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ชนิดไม่ผลัดใบคือมีใบเขียวตลอดเวลา แบ่งออกเป็น ๔ ชนิด คือ
๑.๑ ป่าดิบเมืองร้อน (Tropical evergreen forest)
เป็นป่าที่อยู่ในเขตลมมรสุม มีปริมาณน้ำฝนมาก แบ่งออกเป็น
๑.๑.๑ ป่าดงดิบชื้น (Tropical rain forest)
ป่าดงดิบชื้นขึ้นอยู่ในที่ราบคือบนภูเขาที่ระดับความสูงไม่เกิน ๖๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ป่าดงดิบชื้นในประเทศไทยมีการกระจายส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้และภาคตะวันออกของประเทศ
๑.๑.๒ ป่าดงดิบแล้ง (Dry evergreen forest)
ป่าดงดิบแล้งของเมืองไทยชนิดนี้พบตั้งแต่ระดับความสูงจากน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๑๐๐ เมตรขึ้นไปถึง ๘๐๐ เมตรกระจายตั้งแต่ตอนบนของทิวเขาถนนธงชัย ทิวเขาตะนาวศรี ทิวเขาภูพาน ทิวเขาบรรทัด ทิวเขาพนมดงรัก ทิวเขาดงพญาเย็น ทิวเขาเพชรบูรณ์ เป็นต้น
๑.๑.๓ ป่าดงดิบเขา (Hill evergreen forest)
ป่าดงดิบเขาอาจพบได้ในทุกภาคของประเทศในบริเวณที่เป็นยอดเขาสูงเช่น ยอดดอยอินทนนท์ ดอยปุย และยอดดอยอื่นๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน เป็นต้น
๑.๒ ป่าสน (Coniferous forest)
ป่าชนิดนี้ยึดเอาลักษณะไม้เด่นนำของโครงสร้างของสังคมเป็นหลักในการจำแนก อาจเป็นไม้สนประเภทสองใบหรือไม้สนสามใบ
๑.๓ ป่าพรุหรือป่าบึง (Swamp forest)
พบตามที่ราบลุ่มมีน้ำขังตามริมฝั่งชายทะเล แบ่งออกเป็น
๑.๓.๑ ป่าพรุ (Peat Swamp)
เป็นสังคมป่าที่อยู่ถัดจากบริเวณสังคมป่าชายเลน โดยอาจจะเป็นพื้นที่ลุ่มที่มีการทับถมของซากพืชและอินทรียวัตถุที่ไม่สลายตัว และมีน้ำท่วมขังหรือชื้นแฉะตลอดปี
๑.๓.๒ ป่าชายเลน (Mangrove swamp forest)
เป็นสังคมป่าไม้บริเวณชายฝั่งทะเลในจังหวัดทางภาคใต้ กลาง และภาคตะวันออก และมีน้ำขึ้น-น้ำลงอย่างเด่นชัด
๑.๔. ป่าชายหาด (Beach forest)
แพร่กระจายอยู่ตามชายฝั่งทะเลที่เป็นดินกรวด ทราย และโขดหิน ดินมีฤทธิ์เป็นด่าง
๒. ป่าผลัดใบ (Deciduous Forest)
ป่าชนิดนี้พบได้ตั้งแต่ระดับความสูง ๕๐-๘๐๐ เมตร เหนือระดับน้ำทะเล เป็นระบบนิเวศน์ป่าชนิดที่ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ชนิดผลัดใบหรือทิ้งใบเก่าในฤดูแล้ง เพื่อจะแตกใบใหม่เมื่อเข้าฤดูฝน ยกเว้นพืชชั้นล่างจะไม่ผลัดใบ แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ
๒.๑. ป่าเบญจพรรณ
พบได้ที่ระดับความสูงตั้งแต่ ๕๐ เมตร ถึง ๘๐๐ เมตร หรือสุงกว่านี้ในบางจุด ลักษณะทั่วไปเป็นป่าโปร่ง พื้นที่ป่าไม้ไม่รกทึบ มีไม้ไผ่ชนิดต่างๆ ขึ้นอยู่มาก มีอยู่ทั่วไปตามภาคต่างๆ ที่เป็นที่ราบ หรือตามเนินเขา พันธุ์ไม้จะผลัดใบในฤดูแล้ง
๒.๒ ป่าแดง ป่าแพะ หรือป่าเต็งรัง
พบได้ตั้งแต่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐-๑,๐๐๐ เมตร พบขึ้นสลับกับป่าเบญจพรรณ ลักษณะเป็นป่าโปร่ง มีต้นไม้ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ไม้เด่นอันเป็นไม้ดัชนีประกอบด้วยไม้ในวงศ์ยาง ฤดูแล้งจะผลัดใบ และมีไฟป่าเป็นประจำ ป่าเต็งรังมีถิ่นกระจายโดยกว้างๆ ซ้อนทับกันอยู่กับป่าเบญจพรรณ ป่าแบบนี้พบได้ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีขึ้นไปจนถึงเหนือสุดในจังหวัดเชียงราย ป่าชนิดนี้เป็นสังคมพืชเด่นในทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่ปรากฏสลับกันไปกับป่าเบญจพรรณ ในพื้นที่ที่มีความแห้งแล้งจัด กักเก็บน้ำได้ไม่ดี เช่น บนสันเนิน พื้นที่ราบที่เป็นทรายจัด หรือบนดินลูกรังที่มีชั้นของลูกรังตื้น
๒.๓ ป่าหญ้า
เกิดจากการทำลายสภาพป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ดินมีความเสื่อมโทรม มีฤทธิ์เป็นกรด ต้นไม้ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ จึงมีหญ้าต่างๆ เข้าไปแทนที่ แพร่กระจายทั่วประเทศในบริเวณที่ป่าถูกทำลายและเกิดไฟป่าเป็นประจำทุกปี
CONVERSATION