
วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๔๗
วันจันทร์ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๔ ปีวอก
หลังจากที่คณะของข้าฯประกอบด้วย คุณจิตติ สวัสดิ์สาย คุณรัตนะชัย เขยไชย พนักงานพิทักษ์ป่า โดยการนำทางของนายทิตย์จิตร ลูกจ้างรายวัน ซึ่งผ่านการขึ้นเขาใหญ่มาแล้ว ๔ ครั้ง และครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๕ ของเขา ที่นำคณะต่างๆมาแล้วหลายครั้ง คณะของเราเริ่มออกเดินทางมาตั้งแต่วันที่ ๖ มีนาคม ระหว่างทางได้แวะพักที่ห้วยติล่าตอนบนหนึ่งคืน จึงออกเดินทางต่อขึ้นมาทางสันเขาติล่าตลอดทั้งวัน จึงแวะพักแรมที่เนินเขาใหญ่อีกหนึ่งคืน และเช้าวันที่ ๘ มีนาคม จึงเริ่มเดินทางแบบสบายๆประมาณ ๑ ชั่วโมงเต็มจึงได้มาถึงยอดเขาใหญ่ จุดสูงสุด ซึ่งเรียกว่ายอดเขาไถ่ผะ อันเป็นจุดสูงสุดของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านทิศตะวันตก ซึ่งมีความสูงประมาณ ๑,๘๓๑ เมตร (จากระดับน้ำทะเล)
นับว่าความตั้งใจของข้าฯ ได้ประสบผลสำเร็จอีกอย่างหนึ่งของการทำหน้าที่หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ ด้วยการพยายามหาโอกาสพิชิตขึ้นถึงยอดเขาใหญ่เป็นผลสำเร็จ จากความพยามยามหาโอกาสเป็นเวลา ๓ ปี เศษ นับว่าเป็นความภูมิใจของข้าเป็นอันมาก เพราะมีหัวหน้าฯวีรวัธน์ เพียงคนเดียวที่มีโอกาสได้ขึ้นมาสัมผัส ณ ยอดเขาแห่งนี้
จากการที่ได้ขึ้นมาถึงมาถึงบนยอดสูงสุด ได้เกิดความรู้สึกประทับใจหลายๆอย่าง เพราะนอกจากได้มาพบเห็นสภาพธรรมชาติอย่างอุดมสมบูรณ์ที่เต็มไปด้วยพรรณไม้ป่าดิบเขานานาชนิดแล้ว ตามตลอดเส้นทางคณะข้าฯได้พบสัตว์ป่าเป็นต้นว่า ลิง และ ค่าง ห้อยโหนบนยอดไม้สูงหลายฝูง และจำนวนหลายสิบตัว เป็นการช่วยให้บรรยากาศของป่าตามเส้นทางไม่เงียบเหงาแล้ว ยังเป็นการแต่งเติมสีสันให้สดชื่น น่ารักเป็นอย่างมาก และเมื่อได้พยายามเดินขึ้นสูงไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ชั้น ๑,๔๐๐ เมตรขึ้นไปแล้ว ก็ได้พบเห็นความหลากหลายของพรรณไม้บนที่สูงแปลกๆ ไปเรื่อย สภาพป่าและธรรมชาติไม่แตกต่างไปกว่าตามยอดดอยสูงๆของทางภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นดอยสุเทพและดอยอินทนนท์ ยิ่งมาถึงและสัมผัสยังบริเวณยอดเขาด้วยแล้ว จะเห็นพรรณไม้พวกมอส เกาะติดกับต้นไม้และตามพื้นดิน เป็นพวกเฟิร์น และตีนตุ๊กแกขึ้นกระจัดกระจายไปทั่ว และพบเห็นพรรณไม้มีดอกอีกหลายๆชนิด แต่ไม่ทราบชื่อ
บนยอดสูงสุดของไถ่ผะแห่งนี้ บรรยากาศเต็มไปด้วยความเย็นเยือกของอากาศ เพราะมีลมพัดแรงและกระโชกตลอดเวลา ไม่รู้สึกร้อนเลยแม้แต่น้อย และโดยเฉพาะวันที่ข้าฯขึ้นไปถึง ไม่สามารถมองเห็นความงามและวิวทิวทัศน์ได้เลย เนื่องจากว่าเป็นช่วงจังหวะหมอกหนาทึบมาก และแสงแดดจากอาทิตย์ ไม่สามารถจะส่องผ่านทะลุให้หมอกจางไปได้เลย แม้จะเป็นช่วงเวลาที่สายมากแล้ว(๑๐ โมง) ดังนั้นคณะของข้าฯ จึงพลาดโอกาสที่จะดื่มด่ำกับความงามของบรรยากาศที่จะได้เห็นอันตื่นตาและตื่นใจ จึงเพียงสัมผัสกับความเย็นฉ่ำของบรรยากาศบนยอดเขาเท่านั้น ที่เป็นความประทับใจ ซึ่งถือเป็นสุดยอดครั้งหนึ่งของช่วงชีวิตการที่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ ณ ผืนป่าทุ่งใหญ่ฯ อันมีคุณค่าแห่งนี้ โดยไม่รู้ลืม ซึ่งน้อยคนที่จะได้มาพบเยือนและสัมผัส
ไพบูลย์ เศวตมาลานนท์
หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
๒๕๔๔ - ๒๕๔๗
รายชื่อคณะผู้ร่วมเดินทาง
๑.นายไพบูลย์ เศวตมาลานนท์
๒.นายจิตติ สวัสดิ์สาย
๓.นายรัตนะชัย เขยไชย
๔.นายทิตย์จิตร สังขคีรี
๕.นายโอฬาร แสงชาติ
การย้อนสำรวจเส้นทางขึ้นยอดเขาใหญ่
Reroute passage to Karungpadu
CONVERSATION