อารัมภบท
ระหว่างวันที่ ๒๗ มกราคม - ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ชมรมฯได้ดำเนินการปรับปรุงระบบวิทยุสื่อสารศูนย์วิทยุยู่ยี่ หน่วยพิทักษ์ป่ายู่ยี่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง รวมทั้งการปรับปรุงซ่อมแซมระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ตามแผนงานใน โครงการปรับปรุงระบบวิทยุสื่อสารเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ระยะที่ ๑ ต่อเนื่องจากการปรับปรุงศูนย์วิทยุซับป่าพลูและคลองเสลา ที่ชมรมฯได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา โดยทำการติดตั้งอุปกรณ์วิทยุสื่อสารใหม่ ประกอบด้วยสายอากาศแบบโฟลเด็ดไดโพล ๘ สแต็ก สายสัญญาณแบบ RG - ๘ เปลี่ยนคีย์ไมค์เครื่องวิทยุสื่อสาร ติดตั้งแบตเตอร์รี่ขนาด ๑๐๐ แอมป์ ใหม่จำนวน ๒ ลูก ทดแทนอุปกรณ์เก่าที่มีอายุการใช้งานนานถึง ๑๒ ปี และชำรุดทรุดโทรมจากการใช้งานมายาวนาน และจัดระบบสายเมนไฟฟ้าจากแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ แล้วจึงทำการทดสอบอุปกรณ์ระบบวิทยุสื่อสารและพลังงานแสงอาทิตย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป้าหมายของภารกิจครั้งนี้เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพของศูนย์วิทยุยู่ยี่ ซึงเป็นหนึ่งในศูนย์วิทยุเขตฯห้วยขาแข้ง ตั้งอยู่ที่ระดับ ๑,๔๒๙ เมตรจากระดับน้ำทะเล นับเป็นสถานีวิทยุที่ตั้งอยู่สูงที่สุดของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ก่อสร้างเมื่อปี ๒๕๓๗ โดยหัวหน้าฯชัชวาล พิศดำขำ ผู้ที่มีวิสัยทัศน์และเข้าใจลึกซึ้งถึงความสำคัญของการสื่อสาร ที่จะอำนวยประโยชน์ในด้านการบริหาร จัดการ การป้องกันพื้นที่ การปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายต่างๆ ตลอดรวมถึงสนับสนุนงานวิจัยและวิชาการ ซึ่งศูนย์วิทยุยู่ยี่นี้เปรียบเสมือนหัวใจของการติดต่อสื่อสารของเขตฯห้วยขา แข้ง และศูนย์วิทยุสื่อสารยู่ยี่นี้ยังนับเป็นอีกหนึ่งศูนย์วิทยุที่สำคัญที่สุด แห่งหนึ่งในข่ายวิทยุสื่อสารของผืนป่าตะวันตกอีกด้วย
๑. การเดินทางอันแสนไกล
๒๗ มกราคม ๒๕๔๙: คณะเจ้าหน้าที่ชมรมฯออกเดินทางไกล ระยะทางไปกลับในภารกิจครั้งนี้ร่วม ๓,๐๐๐ กิโลเมตร ต้องใช้เวลาเดินทางถึง ๒ วัน กว่าจะถึงหน่วยพิทักษ์ป่ายู่ยี่ รวมเวลาการเดินทางไปกลับในภารกิจครั้งนี้ ๕ วัน คณะฯเดินทางถึงสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๒ จ. นครสวรรค์ จุดนัดพบกับคณะเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่มารออยู่ก่อนหน้านี้แล้วอีกสามนาย อาคารสำนักงานสำนักฯ ๑๒ เป็นอาคารไม้สองชั้นแบบเก่าหาดูได้ยาก สวยงามมาก สภาพโดยทั่วไปของพื้นที่สะอาดเรียบร้อยดีมาก
บ่ายสองโมงเศษ คณะเจ้าหน้าที่ทั้งหมดกออกเดินทางมุ่งหน้า อ.แม่สอด เป้าหมายที่พักค้างแรมในค่ำคืนนี้ หลังจากที่แวะซื้อเสบียงอาหารเพิ่มเติมที่ตลาดดอยมูเซอระหว่างทางแล้ว คณะฯจึงมุ่งหน้าออกเดินทางต่อ และถึงที่พักเป็นไร่อยู่บนเนินเขาระหว่างทางก่อนถึง อ.พบพระประมาณ ๒๐ กม. เมื่อเวลาสองทุ่มเศษ กางเต็นท์ที่พัก นอนดูไฟเมืองแม่สอดและชมดาวยามข้างแรมที่ทอแสงระยิบระยับท่ามกลางอากาศเย็นหนึ่งคืน
หลังกาแฟและมื้อเช้าวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๙ คณะฯจึงออกเดินทางรอนแนมต่อ เมื่อผ่าน อ.พบพระ แล้ว ถนนก็เริ่มลัดเลาะไปตามซอกเขาไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ สภาพสองข้างทางรถเป็นภาพภูเขาที่ถูกบุกเบิกรุกไร่ เปลี่ยนสภาพเป็นไร่สวนการเกษตรแตกต่างจากเมื่อสิบปีก่อนเป็นอย่างมาก และเมื่อผ่านเข้าใกล้ชุมชน เช่นบ้านร่วมเกล้า ๔ บ้านแม่กลองน้อย แม่กลองคี ก็จะพบไร่สวนตามหุบเขามากยิ่งขึ้น
เมื่อมาถึงศูนย์อพยพบ้านอุ้มเปี้ยม ซึ่งมีลักษณะคล้ายศูนย์อพยพบ้านนุโพ และที่อื่นๆ ที่บ้านเรือนมักปลูกเรียงติดต่อกันเป็นแถวเบียดเสียดยัดเยียดจนดูเหมือนว่า ภูเขาทั้งลูกถูกปกคลุมไปด้วยบ้านเรือนของผู้อพยพ
หน่วยพิทักษ์ป่าแม่กลองคี ที่ต้องรับภาระในการปกป้องดูแลพื้นที่ป่าบริเวณใกล้ชุมชนหมู่บ้านที่ประสบ ปัญหาการบุกรุกแผ้วถางป่าอย่างหนัก และกำลังต้องการได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนเพื่อให้ผืนป่าบริเวณนี้ยังคง ความอุดมสมบูรณ์เป็นป่าต้นลำน้ำแม่กลอง เพื่อคนที่อยู่ปลายน้ำจะได้อาศัยใช้ประโยชน์ต่อไป
๒. ป่าทุ่งแห่งทุ่งใหญ่ตะวันออก
หลังจากที่คณะเจ้าหน้าที่ฯเดินทาง ผ่านถนนลอยฟ้าจนถึง อ.อุ้มผาง แล้ว จึงได้แวะกินมื้อเที่ยงแล้วออกเดินทางต่อมุ่งหน้าหน่วยพิทักษ์ป่ายู่ยี่ให้ ทันก่อนพลบค่ำ เส้นทางช่วงนี้ต้องผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก จ.ตาก และหลังจากที่ดำเนินการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ประจำเวรด่านสำนักงานเขตทุ่ง ใหญ่ฯตะวันออกแล้ว คณะเจ้าหน้าที่ฯจึงออกเดินทางต่อไป
ที่เขตทุ่งใหญ่ฯด้านตะวันออก จ.ตาก มีการจัดการควบคุมการใช้พื้นที่ของนักท่องเที่ยวอย่างเข้มงวด กล่าวคือ ทางเขตฯทุ่งใหญ่ตะวันออก ได้จัดทำเส้นทางเดินเท้าศึกษาธรรมชาติ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาธรรมชาติอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์นำทางและให้คำอธิบายและคำบรรยาย โดยไม่อนุญาตให้ขบวนรถคาราวานอ๊อฟโร๊ด ผ่านเข้าพื้นที่ชั้นในที่มีความเปราะบางทางระบบนิเวศ เช่นเดียวกับที่เขตฯห้วยขาแข้งและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอื่นๆ
ด้วยการจัดการบริหารพื้นที่อย่างเข้มงวดนี่เอง พื้นที่ป่าเขตฯทุ่งใหญ่ด้านตะวันออกนี้ จึงเปรียบเสมือนบ้านที่ปลอดภัยแก่เหล่าสัตว์ป่าทั้งหลาย ดังจะเห็นได้จากการเดินทางผ่านพื้นที่ในภารกิจครั้งนี้ ที่พบร่องรอยสัตว์ป่าหากินอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น ช้าง ที่พบเห็นร่องรอยโดยทั่วไป จนถึงสัตว์เลี้ยงลูกนมขนาดเล็ก รวมถึงสัตว์ผู้ล่า เช่นเสือโคร่ง และสัตว์ป่าหายาก เช่น สมเสร็จ และอื่นๆ ซึ่งยังความชื่นชมแก่คณะเจ้าหน้าที่ฯที่ร่วมภารกิจการเดินทางในครั้งนี้เป็นอย่างมาก
๓. สุดทางที่ยู่ยี่
คณะเจ้าหน้าที่ชมรมฯเดินทางตามเส้น ทางตรวจการณ์ลัดเลาะไปตามขอบทุ่งหญ้า และข้ามภูมิประเทศที่เป็นเนินเขาเตี้ยๆ พร้อมชมธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่แปลกตาของป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันออกไป เรื่อยๆตลอดบ่ายวันนั้น ผ่านทางแยกไปตามหน่วยพิทักษ์ป่าต่างๆที่มีป้ายเขียนบอกเส้นทางติดไว้ที่ ต้นไม้ใหญ่ตามทางแยกต่างๆหลายครั้ง จนในที่สุดเมื่อตะวันเริ่มอ่อนแรง ก็พบป้ายเขียนบอกเส้นทางชี้ทางไปยังศูนย์วิทยุยู่ยี่ เป้าหมายของภารกิจการเดินทางครั้งนี้
แต่คณะเดินทางก็ยังไม่ได้เลี้ยวเข้าไปยังเส้นทางไปศูนย์วิทยุยู่ยี่ หากแต่มุ่งหน้าตรงต่อไปยังหน่วยพิทักษ์ป่ายู่ยี่ที่อยู่ห่างออกไปกิโลเมตร เศษก่อน เพื่อรับเจ้าหน้าที่หน่วยฯและอุปกรณ์เครื่องมือจำเป็นเพิ่มเติมในการดำเนิน ภารกิจครั้งนี้ คณะเดินทางจึงถือโอกาสลงจากรถที่นั่งมาตลอดทั้งวันยืดเส้นสายเดินตรวจสอบ พื้นที่รอบๆหน่วยพิทักษ์ป่ายู่ยี่ระหว่างที่รอการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่และ อุปกรณ์
หน่วยพิทักษ์ป่ายู่ยี่ตั้งอยู่ข้างลำห้วยยู่ยี่ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของหน่วยฯ ที่ตั้งหน่วยฯเป็นที่ราบขนาดใหญ่ในหุบเขา มองเห็นเขายู่ยี่ที่ตั้งศูนย์วิทยุยู่ยี่อยู่ด้านทิศตะวันตก เดิมทีสนามหญ้าหน้าหน่วยฯไม่ได้มีสภาพราบเรียบดังเช่นทุกวันนี้ แต่ได้ถูกปรับปรุงหลังจากพื้นที่บริเวณนี้ถูกกำหนดให้ใช้เป็นที่ก่อสร้างหน่วยฯเมื่อสิบกว่าปีก่อน เพื่อให้นกฮุกสามารถลงจอดได้พร้อมกันถึงสี่ตัว เป็นที่น่าเสียดายที่คณะเดินทางไม่ได้นำลูกฟุตบอลติดมา ไม่อย่างนั้นคงได้เตะลูกฟุตบอลเล่นที่สนามหญ้าหน้าหน่วยฯเป็นแน่
เมื่อ พร้อมแล้ว คณะจึงออกเดินทางย้อนกลับไปทางแยกขึ้นเขายู่ยี่ มุ่งหน้าไปยังศูนย์วิทยุที่ตั้งอยู่บนยอดเขา เส้นทางขึ้นเขาแคบๆพอให้รถเพียงคันเดียววิ่งขึ้นลงยาว ๖ กิโลเมตร ตัดลัดเลาะไปตามไหล่เขา วนไปเวียนมาไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนในที่สุดเส้นทางก็พาคณะเจ้าหน้าที่ฯมาถึงยอดเขาที่ตั้งศูนย์วิทยุยู่ยี่ นับเป็นการสิ้นสุดของเส้นทางและจุดหมายการเดินทางอันแสนไกลสองวันทันพอดีได้ ชมพระอาทิตย์ตกดิน และได้ชื่นชมกับทิวทัศน์ทะเลภูเขายามอาทิตย์อัสดงบนยอดเขาที่มีความสูงสุด หนึ่งในสามของเขตฯห้วยขาแข้งท่ามกลางอากาศบางเบาเย็นสบาย ซึ่งอาจนับเป็นรางวัลสำหรับความทรงจำที่หาได้ยากแก่ผู้ร่วมคณะเดินทางไกลใน ภารกิจครั้งนี้
๔. ศูนย์วิทยุต่ำสิบ
๕. สถานีแห่งผืนป่าตะวันตก

๖. ขับเคลื่อนด้วยแสงอาทิตย์

๗. นายสถานีผู้เดียวดาย

๘. ถ้ำน้ำแข็งยู่ยี่และน้ำตกทีลอซู

CONVERSATION