
สำหรับคนในวงการอนุรักษ์ธรรมชาติ เรื่องราวของจอร์จ แชลเลอร์ (George Schaller) เป็นเหมือนกับตำนาน หากแต่เป็นตำนานที่ยังโลดแล่นและมีชีวิต จอร์จได้รับการยอมรับอย่าง กว้างขวางว่าเป็นนักวิจัยสัตว์ป่าชั้นนำของโลก เขาเป็นนักชีววิทยาคนแรกๆที่บุกเบิกการศึกษาสัตว์ป่าหายากในธรรมชาติไล่ ตั้งแต่กอริลลาภูเขาในแอฟริกากลาง สิงโตในเซเรงเกติ เสือโคร่งในอินเดีย แพนด้าในจีน เสือดาวหิมะในเอเชียกลาง เสือจากัวร์ในละตินอเมริกา และอื่นๆอีกมากมาย นอกจากผลงานวิจัยอันโดดเด่นเขายังมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการจัดตั้ง เขตอนุรักษ์ธรรมชาติขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญระดับโลกขึ้นหลายแห่ง อาทิเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอาร์คติกในอะแลสก้า และเขตอนุรักษ์ธรรมชาติฉางถังในที่ราบสูงทิเบต เขาเป็นนักชีววิทยาภาคสนาม นักสำรวจ นักอนุรักษ์และนักเขียนฝีมือดี

จอร์จ แชลเลอร์เป็นเหมือนต้นธารแห่งแรงบันดาลใจที่ไม่มีวันหมดให้กับนักอนุรักษ์ สัตว์ป่ารุ่นใหม่มาตลอด ๕๔ ปีของการทำงานภาคสนาม ปัจจุบันเขายังคงมุ่งมั่นผลักดันการอนุรักษ์และสำรวจสัตว์ป่าในหลายๆพื้นที่ ทั่วโลก โครงการสำรวจล่าสุดของเขาอยู่ในอิหร่าน อัฟกานิสถาน ทิเบตและทาจิกิสถานในเอเชียกลาง จอร์จในวัย ๗๓ ไม่เคยหยุดทำในสิ่งที่เขารักนั่นคือการศึกษาสัตว์ป่าในธรรมชาติ และนำความรู้เหล่านั้นมาใช้ในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและระบบนิเวศธรรมชาติ เขาเคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า “ในธรรมชาติคือที่ซึ่งจิตวิญญาณของเราโบยบิน”
กลางปี ๒๐๐๖ จอห์น จี มิชเชลล์ ผู้ช่วยบรรณาธิการอาวุโสด้านสิ่งแวดล้อมของ National Geographic บุกไปสัมภาษณ์จอร์จถึงบ้านพักกลางป่าในรัฐคอนเนคติกัต เพื่อนำมาลงในนิตยสารฉบับพิเศษเรื่องอุทยานแห่งชาติ โดยจ่าหัวไว้ว่าเป็น Places we must save และต่อไปนี้คือบทสัมภาษณ์ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาอังกฤษเมื่อเดือนตุลาคม ๒๐๐๖
ถ:คุณเริ่มต้นสนใจโลกธรรมชาติมาตั้งแต่เมื่อไหร่
ต:ตอนเป็นเด็กผมชอบเก็บกิ้งก่า งู และตัวโอพอสซั่มมาเลี้ยง ผมชอบเดินเที่ยวในป่าและดูนก พอผมเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยอะแลสก้าผมถึงได้รู้ว่างานอดิเรกเด็กๆเหล่านี้มันเป็นอาชีพได้จริงๆ สิ่งที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้เลยเป็นสิ่งที่ผมทำมาตลอดชีวิตเท่าที่ผมจำได้
ถ.คุณเรียนด้านไหนตอนอยู่ที่อะแลสก้า
ต:ผมเริ่มต้นด้วยการจัดการสัตว์ป่าแต่มาพบว่ามันหมายถึงการเพิ่มจำนวนสัตว์ป่าไว้ให้นายพรานยิงเล่น ซึ่งผมไม่เคยสนใจเลย ผมเลยเปลี่ยนมาเรียนด้านชีววิทยาภาคสนาม ผมสนุกกับมันมากและไม่เคยเปลี่ยนใจอีกเลย ผมโชคดีมากๆที่สมาคมสัตววิทยาแห่งนิวยอร์ก (New York Zoological Society) ซึ่งในเวลานี้เปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society) รับผมเข้าทำงานเมื่อปี ๑๙๖๖ เขาให้ทุนผมทำการศึกษาเรื่องกอริลล่าในแอฟริกา และตลอดเวลาที่ผ่านมาพวกเขาได้ให้อิสระผมเลือกทำในสิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญต่อการวิจัยและการอนุรักษ์
ถ:คุณได้รับการยกย่องว่ามีส่วนช่วยให้เกิดการจัดตั้งเขตอนุรักษ์ที่ยิ่งใหญ่หลายแห่งของโลก ทั้งในป่าอะเมซอน ทะเลทรายโกบี และเขตอนุรักษ์ในพม่าและในทิเบต คุณพบว่ารัฐบาลส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือดีไหมในการกันพื้นที่ให้เป็นเขตอนุรักษ์
ต:เราต้องทำความเข้าใจกันก่อน ความจริงในฐานะคนต่างชาติคุณไม่ได้จัดตั้งอะไรทั้งนั้น การจัดตั้งพื้นที่อนุรักษ์เป็นเรื่องของรัฐบาลและสิ่งเดียวที่เราพอจะทำได้คือการสำรวจข้อมูลสัตว์ป่า ที่ตั้งของชุมชนและให้คำแนะนำ ถ้าคำแนะนำเหล่านั้นมีเหตุมีผล ผมพบว่าประเทศส่วนใหญ่ต่างก็รับฟัง โดยเฉพาะในประเทศที่ยังไม่เต็มไปด้วยความขัดแย้งกับเอ็นจีโอเจ้าหน้าที่ของรัฐมักจะให้ความสนใจและเข้าใจความพยายามของคุณ ถ้ามันไม่เหลือบ่ากว่าแรงและสอดคล้องกับระบบการทำงานเดิม พวกเขาก็มักจะเดินหน้าและเริ่มดำเนินการบางอย่าง ตัวอย่างเช่นรัฐบาลจีนได้มีความพยายามอย่างยิ่งในการอนุรักษ์พื้นที่หลายๆแห่งในทิเบต ทิเบตยังมีพื้นที่ที่ค่อนข้างสมบูรณ์มีคนอยู่อาศัยไม่มากซึ่งเหมาะสมสำหรับการจัดตั้งเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ ทุกวันนี้หนึ่งในสามของทิเบตได้รับการประกาศเป็นเขตสงวนซึ่งได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่รัฐบาลจีนไม่ได้ประชาสัมพันธ์งานเหล่านี้เท่าไหร่ แต่ลองนึกถึงเขตอนุรักษ์ธรรมชาติฉางถังเขตเดียวที่มีขนาดกว่า ๓ แสนตารางกิโลเมตร (ประมาณ ๓ ใน ๕ ของพื้นที่ประเทศไทย) และรัฐบาลก็ยังคงหาทางให้การคุ้มครองพื้นที่ส่วนอื่นๆที่ติดต่อกันด้วย ในท้ายที่สุดเราอาจจะได้พื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่กว่า ๖ แสนตารางกิโลเมตร (หรือใหญ่กว่าประเทศไทยทั้งประเทศ)
ถ:มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ไหนอีกที่งานของคุณมีส่วนช่วยกระตุ้นให้รัฐบาลของประเทศนั้นลงมือทำอะไรบางอย่าง
ต:มีที่เปอร์เมียในปากีสถานครับ ผมสำรวจที่นั่นเมื่อปี ๑๙๗๔ และเขียนรายงานขึ้นฉบับหนึ่ง และจากการติดต่อผ่านเพื่อนที่รู้จักผมได้มีโอกาสเข้าพบนายกรัฐมนตรี ผมได้ให้คำแนะนำว่าควรจัดตั้งเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าขึ้น ซึ่งฯพณฯนายกรัฐมนตรีในเวลานั้นก็กล่าวว่าผมจะจัดตั้งขึ้น จากนั้นในอีกด้านหนึ่งของพรมแดนผมก็ได้ผลักดันให้รัฐบาลจีนเห็นดีเห็นงามถึงการจัดตั้งเขตอนุรักษ์ขึ้นเช่นกัน ในเวลานั้นซึ่งเป็นช่วงทศวรรษ ๑๙๘๐ และ ๑๙๙๐ ประเทศทาจิกิสถานและอัฟกานิสถานยังไม่เปิดให้คนอเมริกันเข้าไปได้ แต่ตอนนี้ไม่มีปัญหาแล้ว ช่วงเวลาสองสามปีที่ผ่านมาผมจึงพยายามทุ่มเททำงานที่นั่น เราพยายามทำให้รัฐบาลทั้งสี่ประเทศประสานงานและร่วมมือกันจัดตั้งเขตอนุรักษ์ข้ามพรมแดนขนาดใหญ่ขึ้นให้ได้
ถ:คุณช่วยเล่าให้ฟังถึงอิหร่านหน่อยได้ไหม รัฐบาลอิหร่านสนใจที่จะอนุรักษ์เสือชีตาร์เอเชีย (Asian Cheetah)ที่เหลืออยู่ไม่กี่สิบตัวบ้างไหม
ต:พวกเขาสนใจมากครับ ผมเข้าๆออกๆประเทศอิหร่านตั้งแต่ปี ๒๐๐๐ และรัฐบาลก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี มีเสือชีตาร์เอเชียเหลืออยู่แค่ ๕๐ ถึง ๖๐ ตัวเท่านั้น เสือโคร่งและสิงโตได้สูญพันธุ์ไปจากอิหร่านแล้ว ดังนั้นคุณคงจะพอเข้าใจได้ว่าพวกเขาไม่อยากสูญเสียเสือชีตาร์ไปอีกแน่ๆ
ถ:คุณเพิ่งไปที่นั่นมาในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างสหรัฐกับอิหร่านกำลังร้อนแรง เต็มที่ นั่นไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของคุณหรือ
ต:ไม่เลยครับ มันไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับประชาชนชาวอิหร่านเลย พวกเขาเป็นมิตรมากๆ มันเป็นเรื่องสนุกที่ได้ทำงานอยู่ในประเทศเช่นนั้น อิหร่านมีวัฒนธรรมที่วิเศษ และมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำบางสิ่งบางอย่างเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าของพวกเขา
ถ:เรามักได้ยินเกี่ยวกับ “สัตว์ใหญ่ๆที่มีเสน่ห์” อย่างช้าง สิงโต เสือโคร่ง แพนด้าและสัตว์ขนาดใหญ่อื่นๆที่เป็นที่สนใจของสาธารณะ มันทำให้คนรู้สึกเฝือไปหรือเปล่า และจะว่าไปนั่นคือกลุ่มสัตว์ที่คุณศึกษามาตลอดใช่ไหม
ต:ผม ชอบเฝ้าดูสัตว์ตัวใหญ่ๆที่น่าสนใจพวกนั้น แต่คุณไม่อาจนั่งดูพวกมันเฉยๆได้ จริยธรรมในตัวคุณจะบังคับให้คุณต้องช่วยปกป้องพวกมัน ข้อดีของการศึกษาสัตว์ป่าพวกนี้คือมันเป็นที่สนใจของสาธารณะ การศึกษาเรื่องแพนด้าย่อมหาเงินทุนสนับสนุนได้ง่ายกว่าการทำวิจัยเรื่องทาก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าแพนด้ามีความสำคัญทางนิเวศวิทยามากกว่าทาก เพียงแต่หมายความว่าเมื่อคุณได้ทุนที่จะศึกษาและปกป้องสัตว์ใหญ่ที่มีความ น่าสนใจเหล่านั้น คุณย่อมสามารถที่จะช่วยปกป้องทาก มด และสัตว์เล็กสัตว์น้อยอื่นๆที่อยู่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นด้วย เรามักจะพูดกันถึงความหลากหลายทางชีวภาพอยู่เสมอแต่นั่นมันเป็นนามธรรม เราไม่ได้ปกป้องแพนด้าเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ เราปกป้องมันเพราะมันมีเสน่ห์ มันทำให้เรามีอารมณ์ร่วม การมีความรู้สึกร่วมเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการทำให้การอนุรักษ์ได้รับ การสนับสนุนจากสาธารณชน
ถ:คุณเป็นคนแรกๆที่ศึกษาลิงกอริลล่าภูเขา และคุณรายงานว่า แทนที่มันจะเป็นสัตว์ร้ายที่ต้องการฉีกเนื้อคุณเป็นชิ้นๆ แต่มันกลับเป็นสัตว์โลกที่ฉลาดหลักแหลมและอ่อนโยน คุณเขียนไว้ว่า “ใครก็ตามที่ได้มองเข้าไปในแววตาของกอริลล่าแล้วจะรู้สึกเปลี่ยนไปตลอดกาล... เราจะรู้สึกได้ว่าส่วนหนึ่งของกอริลล่ายังอยู่ภายในตัวเรา” คุณพอจะจำได้ไหมถึงความรู้สึกแรกเมื่อได้สบตาลิงกอริลล่า
ต:ครั้ง แรกนั้นใกล้มากครับ ผมได้แต่ตะลึงและรู้สึกกลัวเพราะลิงกอริลล่าซึ่งเหมือนกับสัตว์ขนาดใหญ่ส่วน ใหญ่มักมีบุคลิกเฉพาะตัว ผมไม่รู้ว่าเธอจะตอบสนองอย่างไร บางตัวก็ขี้โมโหบางตัวก็สงบเรียบร้อย แต่แววตาของเธออ่อนโยนมาก และเหมือนลิงกอริลล่าตัวอื่นๆเมื่อพวกมันรู้สึกหวาดระแวงมันจะหลีกเลี่ยงการ สบตานานๆ และค่อยๆเบี่ยงหัวไปมา สิ่งที่งดงามเกี่ยวกับลิงกอริลล่าก็คือมันทำให้ประเทศรวันดามีเอกลักษณ์ เรากำลังพูดถึงประเทศที่ยากจนข้นแค้นและแออัดสุดๆ และแม้จะเต็มไปด้วยบาดแผลจากสงครามกลางเมืองและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แต่ รัฐบาลก็ยังประกาศว่าเราต้องปกป้องและอนุรักษ์ลิงกอริลล่า และพวกเขาก็ทำอย่างที่พูด ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับประเทศที่อยู่ในฐานะเช่นนั้น
ถ:และตอนนี้รัฐบาลบุชและท่านวุฒิสมาชิก Ted Stevens ต่างก็กำลังขอความเห็นชอบในการเปิดให้ขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ราบชายฝั่งของเขตอนุรักษ์ คุณรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้
ต:มันเป็นสิ่งเตือนใจว่าคุณจะยอมแพ้ไม่ได้ถ้าคุณเห็นถึงคุณค่าของสิ่งนั้นจริงๆ ไม่มีอะไรที่วางใจได้เลยในเรื่องของการอนุรักษ์ พื้นที่ลาดทางตอนเหนือของอะแลสก้าประมาณ ๙๕ เปอร์เซนต์ถูกเปิดให้สัมปทานในการขุดเจาะน้ำมันไปหมดแล้ว ทำไมเราถึงไม่ปกป้องส่วนที่เหลือเอาไว้ เราเป็นคนประเภทไหนกันถ้าเราไม่คิดจะรักษาธรรมชาติที่เหลืออยู่ ยังมีพื้นที่ที่ได้ให้สัมปทานอีกหลายแห่งทางตอนเหนือที่ยังไม่ได้ขุดเจาะเลยด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้พวกบริษัทน้ำมันต่างก็พยายามที่จะขอสัมปทานในเขตอนุรักษ์กันแล้ว เพราะเขารู้ว่าถ้าขอได้ พวกเขาก็สามารถขุดเจาะได้ทุกแห่ง
ถ:คุณคิดยังไงกับสถานการณ์เรื่องโลกร้อน
ต:เรา เถียงกันได้ไม่มีวันจบว่ากี่เปอร์เซ็นต์ของโลกร้อนเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และกี่เปอร์เซ็นต์ที่มีสาเหตุมาจากมนุษย์ แต่ความจริงก็คือสภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากและงานวิจัย ทางวิทยาศาสตร์ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าสาเหตุส่วนใหญ่นั้นเกิดจากการใช้เชื้อ เพลิงฟอสซิลของมนุษย์ ถ้าคุณพัฒนาศักยภาพของเครื่องยนต์ให้วิ่งได้สัก๑๗ กิโลเมตรต่อลิตรซึ่งเป็นไปได้อยู่แล้วและเลิกสนับสนุนให้คนใช้รถคันใหญ่ๆ แต่ละปีคุณสามารถประหยัดน้ำมันได้ถึง ๑๐ เท่าเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำมันที่จะผลิตได้จากเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าอาร์คติก มันเป็นเรื่องแปลกจริงๆ เราควรที่จะมีมวลชนที่มีการศึกษาไม่ใช่หรือ แต่พวกเขาไปอยู่ที่ไหนกันหมด ระบบการศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างล้มเหลวที่จะปลูกฝังจิตสำนึก เรื่องสิ่งแวดล้อม นักอนุรักษ์เองก็ล้มเหลว สิ่งเดียวที่เราได้ยินจากนักอนุรักษ์บางกลุ่มทุกวันนี้คือการพูดกันแต่ เรื่อง “การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ถ:คุณไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ มันเป็นแนวทางในการใช้ประโยชน์โดยไม่ให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติและเขตอนุรักษ์
ต:มี ทรัพยากรธรรมชาติบางอย่างในแต่ละประเทศที่ควรได้รับการดูแลราวกับทรัพย์ สมบัติที่มีค่า และนั่นก็ขึ้นอยู่กับองค์กรอนุรักษ์ที่จะต้องต่อสู้ในนามของสัตว์ป่าและ พื้นที่อันพิเศษสุดเหล่านั้น ผมรู้สึกว่าองค์กรอนุรักษ์หลายต่อหลายแห่งหลงทางไปจากวัตถุประสงค์ดั้งเดิม เป้าหมายของพวกเขาไม่ใช่การแก้ปัญหาความยากจนหรือช่วยเหลือการพัฒนาอย่าง ยั่งยืน เป้าหมายของพวกเขาคือการปกป้องมรดกทางธรรมชาติ เรากำลังจะทำอะไร แก้ปัญหาคนไร้ที่อยู่ โดยเชื้อเชิญให้พวกเขาย้ายเข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะกลางมหานครนิวยอร์ก หรือทัชมาฮาล กระนั้นหรือ สถานที่เหล่านั้นคือมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งไม่ต่างอะไรกับทุ่งเซเรงเกติ เขตอนุรักษ์สัตว์ป่าอาร์คติก หรือภูเขาไฟวิรุนก้าและเหล่ากอริลล่าภูเขา ผมเคยได้ยินองค์กรอนุรักษ์บางแห่งอ้างว่าชุมชนท้องถิ่นควรมีสิทธิที่จะ จัดการเขตอนุรักษ์เหล่านั้นด้วยตัวเอง และมีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์ตามความพอใจ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่เหลวไหลมากๆ มันน่าเป็นห่วงจริงๆที่เดี๋ยวนี้เราไม่พูดกันถึง ธรรมชาติ อีกต่อไปแล้ว เราพูดกันถึงแต่ ทรัพยากรธรรมชาติ ราวกับว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีป้ายราคาติดไว้
คุณไม่อาจซื้อสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตวิญญาณได้ในห้างสรรพสินค้า สิ่งเหล่านั้นช่วยยกระดับจิตใจและจิตวิญญาณไม่ว่าจะเป็นป่าดิบดึกดำบรรพ์ แม่น้ำใสสะอาด การโผบินของเหยี่ยวสีทอง เสียงร้องโหยหวนของหมาป่า ที่ว่างและความเงียบสงบที่ปราศจากเสียงเครื่องยนต์ สิ่งเหล่านั้นจับต้องไม่ได้ หากแต่เป็นคุณค่าที่มนุษย์ทุกคนมองหาและต้องการ
ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสารโลกสีเขียว ฉบับมกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐
ที่มา: http://www.wcsthailand.org
CONVERSATION